Sports

“อดีตกุนซือทีมชาติไทย U17” วิเคราะห์สาเหตุแพ้รวด 3 นัด ไม่ใช่เพราะ “จเด็จ” หรือนักเตะบางคน

“โค้ชชุ่ม” อดีตกุนซือทีมชาติไทย U17 วิเคราะห์สาเหตุหลังทีมชุดนี้ แพ้ 3 เกมรวดให้เอเชียน คัพ 2025

วันที่ 10 เมษายน 2568 ความเคลื่อนไหวหลังเกม ทีมชาติไทย U17 แพ้ จีน 0-2 กระเด็นตกรอบเอเชียน คัพ 2025 ในฐานะอันดับ 4 กลุ่ม A แบบไม่มีคะแนน พร้อมชวดคว้าสิทธิ์ไปฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย

แฟนบอลพากันวิจารณ์นักเตะชุดนี้ รวมถึง จเด็จ มีลาภ กุนซือของทีม แบบหนักหน่วง แต่มุมมองของ “โค้ชชุ่ม” ชยกร ถนัดเดินข่าว อดีตกุนซือทีมชาติไทย U17 และเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “เปิดบอล” มองว่าสาเหตุตกรอบไม่ใช่เพราะ โค้ช หรือ นักเตะบางคน แต่กลับมาจากกระบวนการคิดและทัศนคติของคนในวงการฟุตบอลไทยในทุกวันนี้ครับ (โดยเฉพาะผู้มีอำนาจ) โดยหวังอยากให้จัดรายการฟุตบอลเยาวชนที่จะช่วยพัฒนาความสามารถของเด็ก

“โค้ชชุ่ม” โพสต์ผ่านเพจเปิดบอลว่า

มาวิเคราะห์รายละเอียดกันครับ ว่าผลงานของU-17 ที่เป็นแบบนี้เพราะอะไร

หลังจากที่ทีมชาติไทยU-17 แพ้สามแมตช์รวด จบอันดับ 4(สุดท้าย) ของรอบแรก ในการชิงแชมป์เอเชีย และคัดไปบอลโลกในโซเชียลมีเดียเพจต่างๆ ก็เป็นเหมือนทุกครั้งที่ฟุตบอลทีมชาติไทยตกรอบหรือผลงานไม่ดี ต้องมีการระบายออกมา และหาว่าใครผิด และในรอบนี้คนที่ผิดตามความเห็น”แฟนบอล” ส่วนมากเท่าที่อ่านก็คือ ผู้เล่นบางคนและโค้ชจเด็จ

ผมจะบอกให้ครับ ว่าสาเหตุที่ทีมชาติไทยไม่สามารถต่อกรในทัวร์นาเมนต์ระดับเมเจอร์ (ระดับทวีป,ระดับโลก) ได้นั้น เป็นเพราะอะไร ไม่ใช่โค้ชจเด็จหรือผู้เล่นบางคนแน่นอนครับสาเหตุมาจากกระบวนการคิดและทัศนคติของคนในวงการฟุตบอลไทยในทุกวันนี้ครับ (โดยเฉพาะผู้มีอำนาจ)

เราจะเห็นได้เสมอว่า คนไทยมุ่งเป้าไปที่ความสำเร็จในระดับยอดของปีรามิดตลอดเวลาครับระดับชาติ (ทุกรุ่นอายุ) เราต้องการความสำเร็จเสมอ ถ้าล้มเหลว ต้องเปลี่ยนโค้ช ไม่ก็เป็นความผิดนักฟุตบอลบางคนระดับสโมสร ทีมส่วนใหญ่มองไปที่การใช้เงินจ้างนักเตะแพง ๆ (และฐานเงินเดือนก็แพงมากขึ้นในทุก ๆ ปี) มาร่วมทีมเพื่อตามล่าความสำเร็จต่างๆ และไม่สนใจจะพัฒนาทีมเยาวชน (ไม่มีอคาเดมี่ด้วยซ้ำ)

แต่คนส่วนใหญ่ในวงการนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับส่วนฐานของปีรามิด(ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด)อย่างมากพอ

ส่วนที่ผมจะพูดถึงก็คือ การพัฒนาเยาวชนและการเพิ่มจำนวนประชากรฟุตบอลครับเราผลิตนักฟุตบอล อย่างเจ,อุ้ม,มุ้ยหรือเช็คมาได้ไม่มากพอ เพื่อให้โค้ชในทีมชาติชุดใหญ่(และทุกชุด)ได้มีทางเลือกที่จะใช้ได้อย่างทั่วถึงในทุกตำแหน่ง และหลังจากหมดเจเนเรชั่นนี้ ผมก็ยังไม่มั่นใจว่าจะมีใครมาแทนที่คนอย่างเจได้ในทันที

และนักฟุตบอลส่วนใหญ่ที่ถูกกล่าวถึง ก็ไม่ได้เก่งขึ้นมาด้วยระบบการพัฒนาเยาวชนของไทย

ใช่ครับ…… การมุ่งเป้าไปที่ความสำเร็จ หรือถ้วยรางวัลของทีมชาติ เป็นเรื่องที่ดี และมันจะทำให้คนไทยทุกคนภูมิใจ แต่ถ้าเราไม่มุ่งไปที่วิธีการสอนและปั้นนักฟุตบอลให้เป็นนักฟุตบอลที่จะไปแข่งขันในระดับทวีป หรือระดับโลกได้ เราก็จะเดินไปข้างหน้าหนึ่งก้าว และถอยหลังสองก้าวเสมอ ในขณะที่เพื่อนบ้านเราค่อย ๆ เดินไปข้างหน้าเรื่อย ๆ

ตัวอย่างมีมากมายครับเช่น เยอรมันนีที่ล้มเหลวในยุคมิลเลเนียม แล้วทุกคนในวงการฟุตบอลเยอรมันก็หันมาประชุมกัน แล้วก็ตกลงกันว่า เราต้องเปลี่ยนโครงสร้างการพัฒนาเยาวชน……… ไม่ถึง 20 ปี ก็เป็นแชมป์โลกเบลเยี่ยมก็เปลี่ยนแปลงโครงสร้างในยุคเดียวกับเยอรมันนี ไม่ถึง 20 ปีเช่นกัน ก็ผลิตนักฟุตบอลระดับโลกมาในเกือบทุกตำแหน่ง และได้อันดับ 3 ฟุตบอลโลก 2018

การจะพัฒนาเยาวชน ก็ไม่ใช่มุ่งไปที่การที่ทีมยู 14,16,19 จะไปได้แชมป์รายการต่าง ๆ

การพัฒนาเยาวชน คือการมุ่งพัฒนานักฟุตบอลตั้งแต่เล็ก 4-5 ขวบ กันเลยทีเดียว

และในการพัฒนาเยาวชน ไม่ใช่การคัดตัวเด็กเก่ง ๆ มาร่วมทีมไปแข่ง แล้วพอได้แชมป์ก็บอกว่าเราปั้นเด็กเก่ง

การเพิ่มจำนวนประชากรฟุตบอลก็คือการเพิ่มจำนวนนักฟุตบอลนั่นเอง ในระยะยาว โค้ชทีมชาติก็จะมีตัวเลือกนักฟุตบอลระดับทีมชาติในแต่ละตำแหน่งมากขึ้นนั่นเอง

ทุกวันนี้ตัวเลขจำนวนประชากรฟุตบอลเรายังห่างกับประเทศที่ไปบอลโลกมาก ๆ

Grassroots Football ในบ้านเราไม่มีความสำคัญเลย (ไม่มีงบลงมาเป็นปีแล้ว)

สิ่งที่สำคัญกว่าการหานักบอลเด็กเก่ง ๆ ก็คือ การอบรมให้เกิดโค้ชเก่ง ๆ อย่างทั่วถึงทั้งประเทศ พร้อมกับระบบการจัดการฟุตบอลเยาวชนที่มีประโยชน์กับเด็กจริง ๆ

และปัจจุบันรายการฟุตบอลที่จะมีการแข่งอย่างต่อเนื่อง(Regular league) มีแมตช์เป็นประจำอาทิตย์ละแมตช์ เป็นเวลา 7-8 เดือนต่อปีเป็นอย่างน้อยนั้น “ไม่มีเลย”

รายการแบบนี้จะเป็นรายกาารที่ทำให้ผู้เล่นได้เรียนรู้ พัฒนากันไปสัปดาห์ต่อสัปดาห์ หัวข้อต่อหัวข้อ มากกว่าการซ้อมเพื่อ”ชัยชนะ” อย่างเดียว ซึ่ง ประเทศที่ไปบอลโลกเป็นประจำ เค้าต่างทำแบบนี้กันหมด

อันนี้ก็ต้องฝากสมาคมหรือผู้ใหญ่ที่ถืองบประมาณไว้นะครับ ว่ามาลงทุนตรงนี้บ้าง การจัดบอลแบบนี้ บางทีใช้เงินพอ ๆ กับโบนัสทีมชาติไทยชุดใหญ่แค่สองนัดเองครับ แต่ผลระยะยาวต่างกันเยอะครับ

ทุกวันนี้ เรายังเห็นรายการฟุตบอลสั้น ๆ ที่หลาย ๆ ทีมส่งเด็กไปแข่งเพื่อล่ารางวัล เพื่อบอกว่าอคาเดมี่เราดี โรงเรียนเราดี ทีมเราดี เยอะเกินความจำเป็น

ในหลาย ๆ ประเทศที่ฟุตบอลพัฒนาแล้ว รุ่นอายุ 7-12 ปี บ้านเค้ามีเป็นระบบลีกอย่างทั่วถึง เพื่อให้นักฟุตบอลได้มีโอกาสลงเล่นอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงทุกคน และที่สำคัญ เค้าไม่ใส่ใจการการจับอันดับตารางคะแนน

พอไม่มีอันดับหรือผลการแข่งขัน โค้ชก็จะกล้าใช้นักฟุตบอลทั้งทีมหมุนเวียนกันเล่นเท่า ๆ กัน มากขึ้น

บ้านเราส่วนใหญ่ พอเน้นผลการแข่งขัน ทั้งทีมสมมติมี 20 คน โค้ชก็จะใช้แต่ 11-15 คนเท่านั้น เพื่อเน้นเอาแชมป์ เด็กอีก 5 คนที่เหลือ ก็จะลดโอกาสการพัฒนาไปอย่างน่าเสียดายและรวมถึงการสอนฟุตบอลเด็กของบ้านเราส่วนใหญ่ โค้ชจะใช้การสั่งมากกว่าการสอน(โดยให้เหตุผลประกอบ)

เช่น โค้ชจะบอกให้เด็กอย่าเลี้ยง รีบส่งบอล ไปทางโน้น ไปทางนี้ แต่ไม่บอกเหตุผลกับเด็กว่าทำไมต้องทำ ทั้ง ๆ ที่แต่ละสถานการณ์ในเกมส์ฟุตบอล เด็กควรจะมีทางเลือกให้คิดเองมากกว่าหนึ่งทาง

ระบบการสั่งให้เด็กทำ ทำให้บ้านเราผลิตนักฟุตบอลที่มีความคิดสร้างสรรค์ออกมาน้อยเกินไปพอเด็กเลี้ยงบอล โค้ชก็จะชอบบอกให้รีบออกบอลเร็ว ๆ วีธีการแบบนี้ เราก็ผลิตนักฟุตบอลที่มีความสามารถเฉพาะตัวที่จะเอาชนะคู่ต่อสู้ออกมาน้อยเกินไปเช่นกัน

โค้ชส่วนใหญ่สอนให้เด็กส่งบอล เลี้ยงบอลได้ แต่ไม่ได้สอนให้เด็กได้คิดเองว่า ทำตอนไหน ทำเมื่อไร ทำอย่างไร

แต่ทั้งหมดก็ไม่ใช่ความผิดของโค้ช เพราะในการอบรมโค้ชของไทยที่ผมเคยผ่านมา โค้ชก็ไม่ได้ถูกสอนโดยใช้เหตุผลและตั้งคำถามเช่นกัน โค้ชถูกสอนมาให้ฟุตบอลมีแค่ถูกกับผิด ขาวกับดำทำให้โค้ชคนไทยส่วนใหญ่ที่ถูกผลิตออกมา ก็ถูกจำกัดอยู่ในกรอบเช่นเดียวกับนักฟุตบอลและการพัฒนานักฟุตบอลเพื่อป้อนให้กับทีมชาติในอนาคต ทุกวันนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของอคาเดมี่ของสโมสรต่าง ๆ หรือโรงเรียนที่มีทีมฟุตบอลต่าง ๆ(ซึ่งก็จะร่วมมือกับสโมสรอยู่ดี)

และหลาย ๆ ทีม (ในรุ่นเล็ก ๆ ) ก็ยังมุ่งเป้าไปที่การคัดตัวเด็ก การดึงตัวเด็กเข้าทีม เพื่อล่าแชมป์อยู่เหมือนเดิม

ย้ำอีกครั้ง ….. ในระดับเยาวชน ถ้าเรามุ่งเป้าล่าแชมป์ คนที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือโค้ชและเจ้าของทีม ไม่ใช่นักฟุตบอลผมทำงานกับหลายสโมสรในไทย หลาย ๆ ทีมยังคงโฟกัสและทุ่มเงินเกิน95%ของงบ เพื่อไปใช้กับทีมใหญ่ ในขณะที่ทีมระดับเยาวชนกลับไม่ได้รับการเหลียวแลมากที่ควรบางทีมจำเป็นต้องมีทีมเยาวชน (เพราะกฎบังคับ) ก็แค่ไปดึงโรงเรียนที่มีทีมฟุตบอลอยู่แล้ว มาใช้ชื่อสโมสรตัวเอง เพื่อประหยัดงบ

บางทีมลงทุนกับทีมชุดใหญ่หลายสิบล้าน หรือเป็นร้อยล้าน แต่ไม่ลงทุนกับระะบบเยาวชนเลยและยังมีอีกหลายเรื่องครับ ที่วงการฟุตบอลไทยต้องปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะเรื่องรากฐานของฟุตบอล แต่ในช่วงปีหลัง ๆ ผมก็เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ไปในทิศทางที่ดีขึ้นหลายอย่างครับ แต่ถ้าเทียบกับประเทศอื่น ๆ บางทีมันอาจจะช้าไปครับ

และมันจะช้าไปอย่างแน่นอน ถ้าเทียบกับความคาดหวังของแฟนบอลไทย

จะดีมากกว่าครับ ถ้าแฟนบอลไทย ลดความสนใจจากส่วนยอดของปีรามิด แล้วมาเพิ่มที่ส่วนล่างของปีรามิดมากขึ้นจะดีมากกว่าครับ ถ้าคนที่มีส่วนร่วมกับวงการฟุตบอลเยาวชน ลดการตั้งเป้าเรื่องถ้วยรางวัล แล้วไปมุ่งเน้นในการพัฒนาเด็กมากกว่านี้

จะดีมากกว่าครับ ถ้าโค้ชสอนเด็กให้ได้มีความคิดเป็นของตัวเอง โดยการตั้งคำถามกับเด็ก แทนการสั่งครับ

จะดีมากกว่าครับ ถ้าการอบรมโค้ชในทุกวันนี้ อบรมโดยการให้โค้ชได้นำสถานการณ์จริงๆ มาเรียน ไม่ใช่เรียนแต่ท่องทฤษฎี 1-5 เพื่อแค่สอบผ่าน (ทฤษฎีเมื่อ 20 ปีที่แล้วอีกด้วย)

จะดีมากกว่าครับ ถ้าสมาคมฟุตบอล ลงมาใส่ใจกับฟุตบอลเยาวชน ลงทุนกับเด็กและโค้ชที่จะสอนเด็กมากขึ้นครับ

จะดีมากกว่าครับ ถ้าสมาคมฟุตบอล(ในทุกยุค) และผู้ที่ถืองบประมาณทุกฝ่าย หันมาลงทุนกับรากฐานโครงสร้างทางฟุตบอลมากกว่านี้ ทั้งการอบรม Grassroots การจัดการแข่งขันระดับเยาวชนที่ทั่วถึงและต่อเนื่อง การอบรบโค้ชที่กระจายมากกว่านี้ (ตอนนี้ไม่มีงบลงมาเลย)

และจะดีที่สุดครับ ถ้าแฟนบอลไทยใจเย็น ๆ ครับ เราสู้เค้าไม่ได้ เพราะนักฟุตบอลเราได้รับการศึกษาทางฟุตบอลมาไม่เท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้วทางฟุตบอลครับ (ดูแมตช์เจออุซเบกิสถาน)

“ที่สำคัญ”ถ้าแฟนบอลคาดหวังความสำเร็จมากเกินไป คนที่มีอำนาจเค้าก็อยากจะเอาใจแฟนบอลโดยการเอาความสำเร็จมาให้ครับ เค้าก็จะลดความสนใจเรื่องการพัฒนาเด็กลงไปครับถ้าแฟนบอลคาดหวังเรื่องการพัฒนาเด็กมากขึ้น ผู้มีอำนาจทั้งหมดก็จะใส่ใจกับการพัฒนามากขึ้นอย่างแน่นอนครับ

ช่วยกันนะครับ แฟนบอลไทยทุกคนด้วยความรัก จากเพจ #เปิดบอล

ชมโพสต์ต้นทางที่นี่

Related Posts

“ปิยะพงษ์” เคลื่อนไหวทันที หลัง “ทีมชาติไทย U17” ถึงไทย หลังแพ้ 3 นัดรวด เอเชียน คัพ

ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน เตรียมประชุมวางทิศทาง หลังจากทีมชาติไทย U17 แพ้ 3 เกมรวด ร่วง เอเชียน คัพ 2025 วันที่ 11 เมษายน 2568 ฟุตบอลชายทีมขาติไทยรุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี เดินทางถึง ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ หลังเสร็จภารกิจการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี รอบสุดท้าย ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย สำหรับทีมชาติไทย…

Shohei Ohtani makes history with the Los Angeles Dodgers’ historic 50/50 season and championship win

A season of historic firsts unfolded in Los Angeles as one athlete redefined what it means to dominate both at bat and on the basepaths. Historic Milestone In…

ทีมชาติไทยมีลุ้นแล้ว “ฟุตบอลโลก 2030” อาจเพิ่มเป็น 64 ทีม เสนอแผนทางการเรียบร้อย

ทีมชาติไทยมีลุ้นแล้ว “ฟุตบอลโลก 2030” อาจเพิ่มเป็น 64 ทีม เสนอแผนทางการเรียบร้อย วันที่ 11 เมษายน 2568 สหพันธ์ฟุตบอลอเมริกาใต้ (คอนเมโบล) เสนอแผนอย่างเป็นทางการถึง สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ให้เพิ่มจำนวนทีมเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลก 2030 เป็น 64 ทีม ฟุตบอลโลก 2030 จะจัดขึ้นที่ประเทศสเปน, โมร็อกโก และโปรตุเกส หลังจากนัดเปิดสนามจะจัดขึ้นที่ประเทศอาร์เจนตินา ปารากวัย…

Dave Roberts claims that Shohei Ohtani and the Dodgers are in “lock step” due to their slowed pitching progress

One of the many exciting events for the Los Angeles Dodgers in 2025 is going to be the return of superstar Shohei Ohtani on the mound. While the defending champions…

With incredible home runs and brilliant strikeouts, superstar Shohei Ohtani is putting up a historic performance and defying the odds

In a season that seems almost scripted by destiny itself, Shohei Ohtani is rewriting baseball history with feats that captivate fans and leave critics in awe. His extraordinary…

Shohei Ohtani’s landmark $700 million contract sparks interest in a billion-dollar deal in Major League Baseball, as Vladimir Guerrero Jr. considers a historic extension

A New Era of Major League Baseball Finance Baseball is experiencing a financial revolution that is reshaping the sport’s future, with record-breaking contracts and bold ambitions defining the…

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *